ผมเคยปรารภกับพรรคพวกว่าผมเบื่อพาวเวอร์พอยท์ ทุกคนแปลกใจหมด เพราะพวกเขากลับเห็นว่า เพาเวอร์พอยท์มีประโยชน์ดีมากๆ ผลิตก็ง่ายและรวดเร็ว
ผมเลยตอบกลับว่าเพราะเพาเวอร์พอยท์ผลิตง่ายนะซิที่ทำให้ผมเบื่อ เสร็จแล้วผมถามพวกเขาว่า เคยได้ยินฝรั่งเขาแข่งขว้างโทรศัพท์เซลล์โฟนไหม (ผมไม่ชอบคำว่า “โทรมือถือ” เพราะถ้าไม่ใช้มือถือแล้วจะใช้ไรถือ หรือคำว่ามือถือเฉยๆแล้วถืออะไร ) บางคนตอบว่าเคย ส่วนบางคนตอบว่าไม่เคย
ผมจึงเล่าเรื่องที่ผู้จัดรายการทางวิทยุท่านหนึ่ง วิจารณ์หลังจากอ่านข่าวเรื่องนี้ว่า ฝรั่งเขาชอบเล่นอะไรพิลึกๆ เสร็จแล้วผมจึงเฉลยว่า พวกฝรั่งเขาเกลียดโทรศัพท์เซลล์โฟนนะซิ พวกเขาถึงรวมตัวกันมาแข่งขว้างโทรศัพท์ฯให้ไปให้ไกลๆ พรรคพวกของผมก็พูดอย่างเดิม อย่างที่เขาสงสัยว่าผมเกลียดเพาเวอร์พอยท์เพราะอะไร พวกเขาสงสัยว่าพวกฝรั่งเขาไปเกลียดโทรศัพท์เซลล์โฟนทำไม ดีออก มีประโยชน์มาก
ผมจึงบอกว่า เดี๋ยวนี้คนไทยหลายคนเริ่มบ่นถึงการโทรเข้าทางเซลล์โฟน บ้างก็เสนอให้บัตรเครดิตบ้างก็เสนอขายประกันชีวิต บ้างก็ให้กู้เงิน จนแทบไม่อยากรับโทรศัพท์กันแล้ว นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ
ส่วนเพาเวอร์พอยท์นั้น ผมไปที่ไหนๆก็เห็นเขาใช้กันให้เกร่อไปหมด ส่วนใหญ่ผลิตโดยคนไม่มีฝีมือ ดูแล้วสุดเบื่อ ส่วนชื่อ “เพาเวอร์พอยท์ที่น่าชัง” นั้นผมแปลงมาจากชื่อภาพยนต์ฮอลลีวูด Ugly American ชื่อภาษาไทยคือ “อเมริกันผู้น่าชัง” ผมจำหนังเรื่องนี้ได้ดี เพราะบางส่วนถ่ายทำในประเทศไทย และมี มร. คึกฤทธิ์ ปราโมช ร่วมแสดงเป็นนายกรัฐมนตรี
ปัญหาที่พาวเวอร์พ้อยท์น่าเบื่อเนื่องจาก เวลาผู้ใหญ่ถามหาว่ามีใครใช้โปรแกรมพาวเวอร์พอยท์เป็นบ้าง จะมีผู้อาสามากมาย ปัญหาแรกคือผู้อาสาส่วนใหญ่ใช้โปรแกรมนี้เป็น แต่ไม่รู้ว่าทำให้ดีนั้นทำอย่างไร ประการแรกไม่เคยวิเคราะห์ว่า เราใช้เพาเวอร์พอยท์ในรูปแบบไหน ตามความเห็นของผม เราใช้เพาเวอร์พอยท์ได้อย่างน้อย 3 รูปแบบ (ตามที่ผมเคยเห็น)
|
1. สไลด์โชว์
2. สนับสนุนการบรรยาย
3. คู่มือการเรียน
สไลด์โชว์
มักเห็นตามโชว์รูมหรืองานนิทรรศการ แต่มีไม่มากนักเพราะไม่มีเสียง หากต้องการเสียงบรรยาย ผู้ผลิตมักจะทำในรูปแบบของวิดีโอมากกว่า ดังนั้นโชว์ที่ออกมาจึงมีรูปภาพบ้าง ตัวอักษรบ้าดูสับสน ไม่รู้ว่าเขาต้องการบอกอะไรกับเรา แต่ที่น่าเบื่อที่สุดคือ โชว์ที่ยาวเหยียด ยาวกว่า 20 นาทีก็มี
ผมเคยทำสไลด์โชว์ยาวเพียง 1.5 นาที จนถูกถามว่าทำไมถึงสั้นนัก ผมจึงบอกว่าเท่าที่ผมสังเกตุ หากผลิตสไลด์โชว์ดีๆ อย่างเก่งคนจะทนยืนดูได้ไม่เกิน 4 นาทีก็เดินหนีแล้ว ผมเคยอดทนดูสไลด์โชว์เรื่องหนึ่ง นานกว่า 20 นาทีก็ยังไม่จบแถมภาพต่ละเฟรมก็แช่นานกว่า 30 วินาที
สนันสนุนการบรรยาย
ไม่เห็นจะมีใครวิเคราะห์ว่าสื่อสนันสนุนการบรรยายที่ดีควรเป็นอย่างไร ควรใช้ภาพหรือหรือตัวอักษร แต่ต้องไม่ลืมว่าต้องทำให้ตัวผู้บรรยายมีความเด่นมากกว่าเพาวเอร์พอยท์ (เว้นแต่ผู้บรรยายจะทำตัวหลบๆ ไม่ให้เป็นที่น่าสนใจเอง)
ในที่นี้ผมจะยังไม่วิจารณ์มาก เพราะผมตั้งใจที่จะเขียนเป็นบทความอย่างละเอียดแยกต่างหากในภายหลัง แต่ที่น่าเบื่อที่สุดคือ ภาพฉายมีแต่ตัวอักษรเล็กกระจิ๋วหลิ้วเต็มพรืดหน้าจอ แล้วผู้บรรยายก็ยืนอ่านให้พวกเราฟัง เมื่อเป็นอย่างนี้ผมจะไม่อ่าน แต่จะดูผู้บรรยายมากกว่าพราะเขาอาจมีการแสดงท่าทางช่วยสร้างความน่าเชื่อถือน่าสนใจได้ดีขึ้น แต่เท่าที่ผมสังเกตุ คนทั่วไปจะจ้องไปที่จอสำหรับภาพฉายกันเป็นแถว แล้วจะทั้งอ่านและทั้งฟังไปพร้อมๆกัน
คู่มือการเรียน
ผมไม่ขอวิจารณ์เรื่องนี้ เพราะไม่ค่อยจะมีความเข้าใจเท่ากับการใช้ในงานใน 2 วิธีแรก อีกทั้งการอ่านคู่มือการเรียนนั้นผมสามารถกำหนดความเร็วในการอ่านตามที่ผมต้องการ พอเบื่อมากๆผมก็หยุดอ่าน อาจไปทำอะไรหรือดื่มกาแฟให้สดชื่นขึ้น แล้วค่อยกลับมาอ่านต่อก็ยังได้
ส่วนพาวเวอร์พอยท์ที่ดีควรเป็นอย่างไรนั้น ผมจะหาผู้ชำนาญมาช่วยเขียน แต่ผมเชื่อว่าเวลาบิลเกต (เจ้าของ Microsoft เพาเวอร์พอยท์) เวลาเขา พรีเซนท์งาน เขาคงใช้เพาเวอร์พอยท์เช่นกัน แต่คงจ้างผู้ผลิตมืออาชีพ ไม่ใช่ผลิตเองหรือให้ลูกน้องผลิต
สำหรับในประเทศไทย ผมไม่ทราบว่ามีโปรดักชั่นเฮาส์ฝีมือโปรฯจริงๆบ้างหรือเปล่า ถ้าไม่มีหรือมีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ น่าจะมีการส่งเสริมและสร้าง awareness ให้ผู้ที่ต้องการใช้เพาเวอร์พอยท์ได้ทราบถึงผลดีของการผลิตโดยมืออาชีพ
ขณะเดียวกันหากเราต้องการพัฒนาการผลิตเพาเวอร์พอยท์ให้มีคุณภาพ ผมว่าเราคงต้องมีการพัฒนาอย่างน้อย 3 อย่าง
1. จัดอบรมหรือเขียนบทความโดยมืออาชีพ
2. จัดประกวดซึ่ง AV Comm อาจทำเองโดยหาสปอนเซอร์
3. สนับสนุน ให้มีโปรดักชันเฮาส์มืออาชีพ
ผมเชื่อว่า หากเรามีโปรดักชั่นเฮาส์ที่มีฝีมือผลิตโชว์เพาเวอร์พอยท์ น่าจะรับงานจากต่างประเทศได้ไม่ยาก
|